วันการได้ยิน

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปีเป็น วันการได้ยิน (World Hearing Day) เพื่อรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้าน หูเสีย หรือ หูเสื่อม จากการสำรวจประชากรทั่วโลกในปัจจุบันพบว่ามีปัญหาบกพร่องทางการได้ยิน ถึง 360 ล้านคน ในประเทศไทยพบกว่า 2.7 ล้านคน โดยกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น เช่น จากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส อุบัติเหตุกระทบกระแทกทางศีรษะ ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือจากการทำงานหรือไปเที่ยวในสถานที่เสียงดัง โดยกลุ่มเสี่ยงสูงคือกลุ่มคนที่ทำงานในที่มีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง อาการเบื้องต้น เช่น ได้ยินเป็นเสียงซ่าๆ เหมือนเสียงสัญญาณทีวี เสียงเหมือนน้ำไหล เสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด หรือรู้สึกว่าได้ยินแย่ลงกว่าเดิม ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ เช่น มีขี้หูอุดตัน หรืออาจมีแก้วหูทะลุ ประสาทหูเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แก้ไขได้ด้วย 2 วิธีคือการใช้เครื่องช่วยฟัง และการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล

การได้ยิน การรับรู้เสียง

สำหรับการป้องกันการเกิด โรคหูเสื่อม ทำได้โดยหลีกเลี่ยงอยู่ในที่เสียงดังเป็นเวลานาน หรือหากต้องอยู่ในที่เสียงดัง มีความเสี่ยง ควรป้องกันโดยการใส่เครื่องป้องกันเสียง พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลร่างกายให้แข็งแรงเพื่อป้องกันประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ให้คุณครูและผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็ก หมั่นสังเกตพฤติกรรมเด็ก ซึ่งหากพบว่าเด็กมีพฤติกรรม เช่น เรียกไม่ได้ยิน พูดช้า พูดไม่ชัด เป็นต้น อาจเข้าข่ายการบกพร่องทางการรับรู้เสียง ให้รีบนำเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ในแต่ละปีโรงพยาบาลราชวิถีได้ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยิน กว่า 3,000 คนต่อปี มากที่สุดในประเทศไทย

วันการได้ยิน

” ปัจจุบันมีแอพพลิเคชัน ชื่อ Eartone พัฒนาขึ้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ “

ประชาชนสามารถทดสอบประสิทธิภาพของการได้ยินแบบละเอียดได้ด้วยตนเอง ทราบถึงระดับหูตึงหรือเปอร์เซ็นต์ของประสาทหูเสื่อม โดยสามารถดาวน์โหลดบนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ iOS และ ระบบ Android โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย